ผู้เขียน หัวข้อ: บริหารจัดการอาคาร: "ทางระบายน้ำอุดตัน" ปัญหาที่ดูเหมือนเล็ก แต่มองข้ามไม่ได้  (อ่าน 37 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 243
  • รับจ้างโพสประกาศ, รับโพสเวบบอร์ด
    • ดูรายละเอียด
บริหารจัดการอาคาร: "ทางระบายน้ำอุดตัน" ปัญหาที่ดูเหมือนเล็ก แต่มองข้ามไม่ได้

"ท่อตัน " ปัญหาที่ทุกคนฟังแล้วก็คงส่ายหน้า เพราะแทบทุกบ้าน ทุกคอนโดฯ คงจะได้เจอะเจอกันอย่างแน่นอน ..ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ดูเหมือนเล็กเพราะมีวิธีแก้ไขมากมาย แต่ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ และถ้าไม่แก้ก็สามารถลามไปเป็นปัญหาใหญ่อย่างน้ำท่วมห้องได้ด้วยเช่นกัน ทำให้ปัญหาระบบน้ำในอาคารนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจที่จะมองข้ามไปได้เลยทีเดียว วันนี้ทางทีมงานก็มีวิธีรับมือกับเหล่าบรรดา "ปัญหาทางระบายน้ำอุดตัน" ในจุดต่างๆ มาฝากกัน เพื่อให้เพื่อนๆ ได้รู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกัน เพื่อแก้ไขปัญหากวนใจในการอยู่อาศัยค่ะ

ภายในบ้านเรานี้ประกอบด้วยห้องต่างๆ ทั้งห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ระเบียง ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะ..ว่าห้องส่วนใหญ่ที่กล่าวมานั้น จำเป็นต้องเดินระบบน้ำไว้แทบทุกห้อง เพราะในแต่ละวัน " น้ำ " เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องใช้ภายในบ้านเรือน จากสถิติปัจจุบันมีอัตราการใช้น้ำในบ้านอยู่ที่ประมาณ 150-200 ลิตร/คน/วัน ซึ่งพอเราใช้น้ำล้างจาน อาบน้ำ ซักผ้า ชำระของเสียต่างๆ ไปแล้วนั้นก็ต้องมีการระบายออกจากบ้าน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของน้ำที่ใช้ไป ..ลองคิดเล่นๆ ว่าหากในบ้านมีผู้อยู่อาศัย 2 คนก็ต้องมีน้ำเสียในแต่ละวันที่เพิ่มขึ้นอีกเท่านึง หรือถ้าเป็นน้ำเสียจากคอนโดฯ ที่อยู่กันเป็นพันยูนิต ก็คงจะต้องมีระบบระบายน้ำและของเสียที่มีประสิทธิภาพในการระบายมากยิ่งขึ้นทีเดียว แล้วอาคารที่เราอยู่อาศัยมีวิธีระบายน้ำเสียอย่างไรล่ะ? จะอธิบายด้วยภาพกราฟฟิคง่ายๆ ตามนี้ค่ะ

ระบบระบายน้ำของแต่ละอาคารไม่ว่าจะบ้านหรือคอนโดฯ จะมีการต่อท่อระบายน้ำออกมาจากห้องต่างๆ หลักๆ คือ ห้องน้ำ ห้องครัว หลังคาและระเบียงแล้วน้ำเสียทั้งหมดจะไหลไปรวมกันที่บ่อพัก (สำหรับน้ำจากโถสุขภัณฑ์และอ่างล้างจานจะไปผ่านถังดักไขมันและถังบำบัดก่อน) เพื่อระบายออกไปสู่ทางระบายน้ำสาธารณะต่อไป..เพื่อนๆ ลองคิดต่อว่าหากมีการอุดตันที่จุดใดจุดหนึ่งแล้วทำให้น้ำระบายออกสู่ทางระบายน้ำสาธารณะไม่ได้ ก็จะทำให้น้ำเอ่อกลับขึ้นมาในที่พักอาศัยของเราได้นะคะ แล้วการอุดตันนี้เกิดมาจาก สาเหตุ อะไรกันบ้าง จะแยกให้ดูกันทีละจุดพร้อม แนวทางแก้ไข

- เริ่มกันที่ "ห้องน้ำ" ..การอุดตันของระบบท่อในห้องน้ำทั้งที่ อ่างล้างหน้า และท่อระบายน้ำที่พื้น ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาของการตุดตันจากเส้นผมที่หลุดร่วงจากการอาบน้ำ สระผม หรือมาจากไขสบู่ ไขมัน ยาสีฟัน เศษอาหารต่างๆ ที่ไปเกาะอยู่ตามท่อทำให้น้ำระบายออกไม่ได้

–> สาเหตุนี้สามารถแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ด้วยการนำสิ่งที่อุดตันออก อย่างเส้นผมก็เก็บทิ้ง หรือใช้ลวดเหล็กเกี่ยวสิ่งที่อุดตันออก ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ลองใช้งูเหล็กทะลวงเข้าไปก็ได้ แต่ถ้าจะใช้งูเหล็กแนะนำให้เป็นผู้มีความชำนาญจะดีกว่า เพราะถ้าใช้ไม่เป็นท่ออาจจะแตกได้ นอกจากนี้ก็มีวิธีแก้อีกคือ ใช้น้ำยาทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ให้เลือกดูสูตรเฉพาะท่ออุดตันนะคะ จะได้ไม่กัดกร่อนท่อค่ะ ส่วนการป้องกันการอุดตันคือเลือกใช้ตะแกรงปิดท่อระบายน้ำแบบถี่ๆ ไม่ให้สิ่งสกปรกหลุดเข้าในท่อได้


- อีกปัญหาหนึ่งคือการอุดตันใน โถส้วม ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสิ่งสกปรกที่ย่อยสลายยาก อย่าง กระดาษทิชชู่ และผ้าอนามัย

–> ปัญหานี้แก้ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ไม้ยางปั๊ม เพื่อให้เกิดแรงดัน ซึ่งจะดันสิ่งอุดตันให้ไหลผ่านท่อลงไป แต่การทิ้งสิ่งที่ย่อยสลายยากลงไปในโถส้วมบ่อยๆ จะทำให้ถังบำบัดสำเร็จรูป (บ่อเกรอะ-บ่อซึม) เต็ม ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขยากขึ้นในอนาคต สามารถป้องกันได้โดยการติดตั้ง Cleanout (CO) คือ ช่องเปิดสำหรับการทำความสะอาดภายในท่อในกรณีที่อุดตัน สามารถติดตั้งได้ทั้งท่อส้วมและท่อระบายน้ำทิ้งจากการชำระล้างหรืออาบน้ำเลยค่ะ

- ต่อไปมาดูในส่วนของ “ห้องครัว” กันบ้าง ปัญหาที่มักจะเกิดคือการอุดตันของอ่างล้างจาน สาเหตุจากพวกเศษอาหาร คราบไขมันต่างๆ ที่มักจะมาสะสมที่ส่วนนี้

ถ้าไม่ทำความสะอาดให้เรียบร้อย ก็จะไปขวางทางระบายน้ำ ทำให้ระบายได้ช้าหรืออาจจะอุดตันไปได้เลย สำหรับจุดที่เราต้องจัดการดูแลทำความสะอาดอยู่เสมอ มีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน จะอธิบายด้วยภาพกราฟฟิคง่ายๆ เป็น 3 หมายเลขนะคะ

–> ส่วนที่จะต้องดูแลเบื้องต้นเลย คือ ตะแกรงดักเศษอาหาร (หมายเลข 1) ที่ต้องเอาอาหารออกมาทิ้งและล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพราะเศษอาหารจะไหลลงไปในท่อ พอมากๆ เข้าก็ทำให้ท่อตันได้

–> การแก้ไขส่วนต่อมา คือ กระปุกท่อน้ำทิ้งใต้อ่างล้างจาน (หมายเลข 2) ที่แก้ได้โดยหมุนเกลียวถอดออกมาล้างทำความสะอาด ซึ่งหากถอดกระปุกออกมาทำความสะอาดก็ควรตรวจสอบภายในท่อให้สะอาดด้วยเช่นกัน ถ้าล้างส่วนนี้แล้วยังตันอยู่ก็สามารถใช้น้ำยาทำความสะอาดท่อครัวอุดตัน ให้เลือกสูตรที่ไม่ทำลายท่อ หรือถ้ายังไม่หายตันอีกก็สามารถใช้งูเหล็กช่วยในการกระทุ้งทะลวงท่อที่ติดอยู่กับผนังให้สิ่งอุดตันที่ตกค้างหลุดออกมาได้ แต่การใช้งูเหล็กแนะนำให้เรียกผู้เชี่ยวชาญมาทำให้ดีกว่านะคะ

–> อีกส่วนหนึ่งที่จะต้องดูแลเป็นประจำคือ บ่อดักไขมัน (หมายเลข 3) ที่ต้องเปิดฝาถังเพื่อตักพวกไขมันออก ซึ่งบ่อดักไขมันนี้มีหน้าที่ดักและแยกชั้นไขมันออกจากน้ำเสียจากซิงค์ครัว ไม่ให้ไหลลงไปอุดตันในท่อระบายน้ำ การดูแลรักษาบ่อดักไขมันนี้จะต้องตักเศษไขมันออกเป็นประจำเพื่อให้น้ำระบายได้คล่องและไม่มีกลิ่นรบกวน หากไม่ตักออกจะเกิดการสะสมของไขมันจนจับตัวกันเป็นก้อนซึ่งทำให้เกิดการอุดตันได้ค่ะ

- มาดู “รางน้ำฝน” และ “ท่อระบายน้ำบนดาดฟ้า/ระเบียง” กันต่อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเตรียมทำความสะอาดไว้ สำหรับรับหน้าฝนเลย ไม่อย่างนั้นจะเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำฝนไหลลงท่อไปไม่ได้ จึงท่วมขัง บางกรณีที่เคยเจอคือน้ำฝนท่วมขังที่ระเบียงเพราะระบายลงท่อไม่ได้ จนน้ำไหลเข้าบ้านทำให้เฟอร์นิเจอร์เสียหายได้เลย พอรู้ปัญหาแบบนี้แล้วก็ประมาทไม่ได้เชียวนะคะ สาเหตุส่วนใหญ่ก็เนื่องจากไม่ได้ทำความสะอาดรางน้ำ หรือท่อระบายน้ำมานาน กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ อ่าว! เข้าหน้าฝนซะแล้ว ทำให้เศษใบไม้ สิ่งสงปรก ฝุ่นผงต่างๆ สะสมจนเกิดการอุดตันภายในท่อ พอฝนตกลงมาก็ระบายไม่ได้ จึงท่วมขังบนพื้น แต่บางทีถึงท่อระบายในบ้านเราอาจจะไม่ตัน แต่สาเหตุก็อาจเกิดจากปริมาณน้ำที่เยอะเป็นพิเศษจากฝนที่ตกมา ทำให้การระบายน้ำจากอาคารไปลงท่อระบายน้ำสาธารณะช้าลงหรือระบายไม่ได้ ก็ทำให้น้ำจากทางระบายน้ำไหลย้อนกลับเข้ามาในอาคารได้อีกเช่นกัน จะมีวิธีรับมืออย่างไร ไปดูกันต่อเลย


ในส่วนของรางน้ำฝนก็มีวิธีดูแลทำความสะอาดไม่ยากเลยนะคะ แค่หมั่นทำความสะอาดรางน้ำฝน ด้วยการเก็บเศษใบไม้และเศษขยะต่างๆ ไม่ให้มาอุดภายในราง ก็ทำให้น้ำสามารถไหลได้สะดวกแล้ว หรือหากมีเศษดิน คราบสกปรก ก็ใช้เกรียงขูดออกได้ หรือถ้าอุดตันภายในท่อก็อาจจะใช้งูเหล็ก ช่วยทะลวงสิ่งอุดตันต่างๆที่อยู่ภายในท่อระบายน้ำ โดยทำทั้งด้านบนลงล่างและด้านล่างขึ้นบน สุดท้ายคือการใช้สายยางฉีดน้ำหรือใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงก็ได้เพื่อล้างทำความสะอาดรางน้ำอีกครั้ง ซึ่งควรจะทำเตรียมไว้ช่วงก่อนเข้าหน้าฝนนะคะ เพราะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงนี้จริงๆ เลยค่ะ


ถ้าปัญหาอยู่ที่ท่อระบายน้ำที่ดาดฟ้าหรือระเบียงระบายน้ำไม่ทัน ส่งผลให้มีน้ำท่วมขัง ก็มีวิธีแก้ไขเบื้องต้นโดยขจัดสิ่งสกปรกออกจากพื้นและท่อระบายน้ำให้หมด โดยการปัดกวาดเศษฝุ่นผงเศษใบไม้ และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ แล้วบริเวณปากท่อน้ำทิ้งก็ควรติดตั้ง Roof Drain หรือที่เรียกว่าฝาครอบท่อชนิดหัวกะโหลก แทนการใช้ Floor Drain แบบปกติที่มีโอกาสเกิดการอุดตันได้ง่ายกว่า เนื่องจาก Roof Drain ถูกออกแบบมาเฉพาะสำหรับการระบายน้ำบนพื้นดาดฟ้าและพื้นระเบียง มีลักษณะเป็นถ้วยตะแกรงทรงคว่ำที่ช่วยกรองป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกหรือเศษใบไม้ตกลงไปในท่อระบายน้ำที่อาจทำให้เกิดการอุดตันได้ โดยให้เลือกใช้ขนาดที่สัมพันธ์กับขนาดท่อระบายน้ำ และติดตั้งท่อน้ำทิ้งอย่างน้อย 1 จุด ต่อพื้นที่ 30-40 ตารางเมตรค่ะ


แต่ถ้าเป็นปัญหาหน้าฝนอย่างการระบายน้ำจากท่อภายในอาคารลงท่อระบายน้ำสาธารณะไม่ได้ ก็คงต้องอาศัยการเคลียร์ท่อสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนที่จะแก้ยากหน่อย เพราะบางทีถ้าเราอยู่คอนโดหรือหมู่บ้านจัดสรรคงต้องให้ทางโครงการจัดการให้ สิ่งที่สามารถทำเองได้คือการช่วยลดปริมาณน้ำทิ้งจากบ้านเรือน ง่ายที่สุดก็คือการลดปริมาณน้ำฝนที่จะไหลลงสู่บ่อพัก เนื่องจากน้ำฝนเป็นน้ำสะอาดจึงมีวิธีเเก้ไขโดยการให้เพิ่มจุดระบายน้ำฝนไม่ให้ไหลไปรวมที่บ่อพัก โดยการใส่ข้อต่อเพื่อแยกท่อระบายน้ำฝนเพิ่ม แล้วปล่อยน้ำทิ้งบางส่วนไปตามพื้นรอบๆ ก็จะช่วยลดปริมาณน้ำในบ่อพักได้ค่ะ

สรุปเบื้องต้นของการป้องกัน คือ เราควรหมั่นตรวจสอบสภาพท่อระบายน้ำว่าอยู่ในสภาพดี มีตะแกรงดักเศษสิ่งปกปิดอยู่เสมอๆ และควรหมั่นสังเกตเมื่อกดน้ำทุกครั้ง ถ้ามีสิ่งสกปรกอุดอยู่ต้องกำจัดออกมา ไม่ควรดันให้หลุดเข้าไปภายใน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะดูแลเรื่องสิ่งสกปรกไม่ให้ลงท่อแล้ว แต่ช่วงหน้าฝนเรามักจะพบปัญหาท่อตันกันเป็นประจำ นั่นก็เพราะการต่อท่อระบายน้ำเสียที่ทำให้น้ำจากส่วนต่างๆ ไหลมารวมกัน แต่ในช่วงหน้าฝนจะมีปริมาณน้ำจากรางน้ำฝนบนหลังคาและระเบียงที่เยอะเป็นพิเศษ ทำให้น้ำเสียเต็มบ่อพักเร็วขึ้น พอจะระบายออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะก็อาจจะระบายออกยากอีก เพราะท่อสาธารณะก็มีปริมาณน้ำที่เยอะเป็นพิเศษเช่นกัน เวลากดน้ำก็สังเกตได้เลยว่า น้ำจะไหลลงช้าผิดปกติ ก็มักจะเกิดในช่วงนี้แหละค่ะ

การป้องกันแก้ไขในเบื้องต้นของการอุดตันในส่วนต่างๆ ก็ได้อธิบายไปหมดแล้ว ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยบรรเทาอาการท่อตันไปได้พอสมควร แต่หากไม่ได้เตรียมการรับมือไว้อย่างที่กล่าวมา ปัญหาที่ดูเหมือนเล็กแบบนี้ก็สามารถลามเป็นปัญหาใหญ่ จนน้ำท่วมน้ำห้องได้เช่นกัน แล้วจะมีวิธีอย่างไรอีกบ้างในการรับมือกับปัญหานี้ ?.. ” การทำประกันภัยบ้าน “ ถือเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะทำให้เราไม่ต้องเสียเงินก้อนโตไปกับการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ท่อน้ำอุดตันจนระบายไม่ทัน ทำให้น้ำท่วมเข้าบ้าน เข้าห้องพักอาศัย ซึ่งอาจทำให้เราต้องซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ใหม่ และซ่อมแซมบ้านในส่วนที่ชำรุดเสียหาย ..หากใครยังไม่เข้าใจถึงเรื่องของประกันภัยบ้านว่าทำหน้าที่อะไร


จะยก Case Study ที่เกิดขึ้นจริงมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

เริ่ม Case Study แรกกันเลยนะคะ เกิดขึ้นกับห้องชุดพักอาศัยของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ที่น้ำฝนไหลเข้าจากทางระเบียงด้านหลังห้องแล้วน้ำก็ไหลไปทั่วห้องพัก ทำให้ทั้งพื้นไม้ลามิเนต, บัวพื้นและวอลล์เปเปอร์ ในห้องเกิดความเสียหายจากการบวมน้ำ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องก็เสียหายไปด้วยเช่นกัน พอแจ้งไปทางประกันภัยก็จะเข้ามาตรวจสอบสาเหตุ พอทราบว่าเป็นเพราะน้ำฝนที่ไม่สามารถไหลลงท่อระบายน้ำได้จากการอุดตันของตัวท่อ จึงทำการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไป

อย่างเหตุการณ์น้ำที่เข้ามาในห้องนี้ ทางประกันบ้านก็จะรับเคลมเฉพาะพวกเฟอร์นิเจอร์ที่โดนน้ำ เช่น ในห้องนี้ก็จะมีเตียงนอน, โต๊ะทานข้าว, วอลล์เปเปอร์, บัวพื้น, พื้นห้อง ซึ่งทางประกันภัยจะรับผิดชอบกับค่าความเสียหายพวกนี้ให้ แต่จะไม่ได้รับผิดชอบกับตัวต้นเหตุของเรื่องอย่างท่อระบายน้ำนะคะ เจ้าของห้องชุดจะต้องไปซ่อมเอง หรือถ้าสาเหตุมาจากท่อส่วนกลางก็ต้องไปติดต่อให้ทางโครงการดูแลต่อไปค่ะ

ที่ 2 น้ำฝนได้สาดเข้ามาท่วมขังบริเวณทางเดินหน้าเดินหน้าห้อง และเข้ามาในห้องจากทางประตูด้านหน้า จนน้ำไหลเข้าไปถึงบริเวณครัวประตูหลัง ทำให้เกิดความเสียหายตั้งแต่ประตูหน้าห้องไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องนะคะ ทางประกันภัยได้เข้ามารับผิดชอบค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้แก่ ประตูที่โดนน้ำจนขึ้นรา วอลล์เปเปอร์ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ที่ 3 กรณีนี้มีสาเหตุมาจากน้ำฝนบนชั้นดาดฟ้าที่ไม่ระบายลงท่อระบายน้ำ เกิดไหลลงมาเข้าอาคารจากทางบันไดหนีไฟ แล้วไหลเป็นทางยาวมาเข้าห้องชุดพักอาศัยค่ะ

สำหรับความเสียหายของห้องนี้จะเห็นได้ตั้งแต่พื้นไม้ที่ขึ้นรา แถมในห้องปูพรมไว้ด้วยก็ทำให้พรมชื้นและอมน้ำ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในห้องก็ได้รับความชื้นไปด้วยเช่นกัน สำหรับกรณีนี้ประกันภัยก็จะรับผิดชอบค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพื้น พรม และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่เสียหายให้เช่นกันค่ะ