ผู้เขียน หัวข้อ: อาหารสุขภาพ บำรุงสมอง รักษาอัลไซเมอร์ ชัวร์หรือมั่วนิ่ม ?  (อ่าน 138 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 271
  • รับจ้างโพสประกาศ, รับโพสเวบบอร์ด
    • ดูรายละเอียด
อาหารสุขภาพ บำรุงสมอง รักษาอัลไซเมอร์ ชัวร์หรือมั่วนิ่ม ?

อาหารและสมุนไพรหลากหลายชนิดที่เชื่อกันว่าสามารถช่วยบำรุงสมอง ป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะแปะก๊วย น้ำมันปลา และน้ำมันมะพร้าวที่มีการกล่าวถึงคุณประโยชน์ เป็นอาหารบำรุงสมอง ความคิด ความทรงจำอย่างแพร่หลาย แต่รู้หรือไม่ว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ในทุกวันนี้พูดถึงการรักษาทางเลือกเหล่านี้ว่าอย่างไรบ้าง


อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองเสื่อม ส่งผลกระทบด้านความคิด ความทรงจำ และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างร้ายแรง ปัจจุบันพบว่ามีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าในปี 2573 สถิติผู้ป่วยในไทยจะพุ่งขึ้นสูงถึง 1,117,000 คน ทว่าก็ยังไม่พบแนวทางการรักษาทางการแพทย์ที่จะช่วยให้หายได้ จึงเกิดการตื่นตัวและมีการอ้างถึงการป้องกันและการรักษาทางเลือกโดยใช้สมุนไพรหรืออาหารต่าง ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก

แปะก๊วย พืชสมุนไพรยอดนิยมที่กล่าวกันว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงความจำ เสริมสร้างการทำงานของสมอง ป้องกันและชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์รวมถึงภาวะสมองเสื่อมทั้งหลาย โดยเชื่อกันว่าแปะก๊วยมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและมีสารต้านอนุมูลอิสระที่จะป้องกันไม่ให้เซลล์สมองถูกทำลาย ช่วยในการทำงานของสารสื่อประสาท รวมทั้งป้องกันการสะสมของอะไมลอยด์ (Amyloid) สารโปรตีนชนิดหนึ่งที่เชื่อว่าอาจไปสร้างความเสียหายต่อเซลล์สมองและเป็น
สาเหตุให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยขนาดใหญ่ที่ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการใช้ยาหลอกกับแปะก๊วยในกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีการทำงานของสมองเป็นปกติและกลุ่มที่พบความผิดปกติในการทำงานของสมองเล็กน้อย โดยใช้อาสาสมัครทั้งหมด 3,069 คน อายุตั้งแต่ 72-96 ปี ทดลองรับประทานสารสกัดจากแปะก๊วยเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 120 มิลลิกรัม ผลการศึกษาพบว่าแปะก๊วยไม่สามารถช่วยลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการบริโภคแปะก๊วยเพื่อชะลอการเสื่อมถอยของความทรงจำในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยแม้จะพบว่าแปะก๊วยมีความปลอดภัยในการใช้ แต่ด้านประสิทธิภาพในการใช้นั้นไม่ดีนักและไม่อาจเชื่อถือได้

การรับประทานแปะก๊วยนั้นถือว่ามีความปลอดภัยกับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่จะต้องรับประทานในปริมาณที่พอดี เป็นเวลาติดต่อกันไม่เกิน 6 เดือน แต่อย่างไรก็ดี การรับประทานแปะก๊วยไม่ได้ปลอดภัยสำหรับทุกคน ผู้ที่ต้องการลองรับประทานมีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

    แปะก๊วยอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงให้มีอาการปวดศีรษะ อาหารไม่ย่อย หรือเกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง และในผู้สูงอายุจะเสี่ยงต่อการมีเลือดออกได้
    หญิงตั้งครรภ์ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการตกเลือดยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับหญิงที่ต้องให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์
    แปะก๊วยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก ควรหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการออกของเลือด หรือผู้ที่กำลังใช้ยาที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
    การรับประทานสด ๆ หรือปรุงโดยการคั่วเมล็ดอาจมีพิษและอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้

น้ำมันมะพร้าว อาหารอีกประเภทที่มีการกล่าวถึงประโยชน์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ที่มาของความเชื่อนี้เกิดจากการทดลองเกี่ยวกับอาหารทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดสารคีสโตนในร่างกาย พบว่าอาสาสมัครที่รับประทานสามารถทำแบบทดสอบความทรงจำได้ดีขึ้น โดยคาดว่าสารนี้อาจช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้นจากภาวะที่เซลล์สมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะสูญเสียความสามารถในการใช้พลังงานจากกลูโคส และด้วยความที่น้ำมันมะพร้าวนั้นเป็นอุดมด้วยกรดคาไพรลิก (Caprylic acid) กรดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สายยาวปานกลางที่จะแตกตัวออกเป็นสารคีโตนเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงถูกนำมาอนุมานว่าจะสามารถช่วยรักษาอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน ในราคาที่ไม่แพงและหาซื้อได้ง่ายกว่า

ทั้งนี้ ข้อสรุปดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ยืนยันได้ว่าน้ำมันมะพร้าวจะช่วยป้องกันหรือชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ และปัจจุบันยังไม่ปรากฏผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ เกี่ยวกับการใช้น้ำมันมะพร้าวช่วยรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีเพียงรายงานจำนวนเล็กน้อยที่อ้างว่าการเพิ่มน้ำมันมะพร้าวลงในอาหารของผู้ป่วยโรคนี้ช่วยให้อาการดีขึ้น เช่น การศึกษารายกรณีของแพทย์หญิงคนหนึ่งที่ผสมน้ำมันมะพร้าวลงในอาหารให้สามีที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์รับประทาน แล้วพบว่าอาการดีขึ้นและสามารถวาดรูปนาฬิกาได้ถูกต้องกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นการทดลองเฉพาะบุคคลที่ยังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ

การได้รับน้ำมันมะพร้าวในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารที่รับประทานในแต่ละวันนั้นไม่น่าจะมีอันตรายใด ๆ แต่หากต้องการใช้โดยหวังคุณประโยชน์ด้านใด ๆ ก็ควรระมัดระวังในกรณีต่อไปนี้

-    น้ำมันมะพร้าวอาจปลอดภัยสำหรับหญิงมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และเด็ก หากได้รับในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน แต่การรับประทานในปริมาณมากกว่าปกติยังไม่มีข้อยืนยันถึงความปลอดภัย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้นจึงไม่ควรรับประทานน้ำมันมะพร้าวเสริม
-    น้ำมันมะพร้าวอาจไปเพิ่มระดับไขมันชนิดไม่ดีในร่างกาย แต่ข้อนี้มีหลักฐานโต้แย้งที่ชี้ว่าแท้จริงแล้วระดับไขมันที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นไขมันชนิดดีที่ส่งผลต่อระดับไขมันเลวโดยรวมเพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่มีผลเลย
-    ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าน้ำมันมะพร้าวสามารถทำปฏิกิริยาต่อยารักษาโรคอื่น ๆ หรือไม่ ผู้ใช้จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนใช้ยาใด ๆ หากกำลังรับประทานน้ำมันมะพร้าว
-    การรับประทานยาไซเลียม (Psyllium) จะส่งผลให้ร่างกายลดการดูดซึมไขมันในน้ำมันมะพร้าวได้

น้ำมันปลา อาหารเสริมที่ประกอบด้วยกรดไขมันจำเป็นประเภทโอเมก้า 3 ปริมาณสูงชนิด DHA และ EPA ที่ปกติพบได้ในปลา เช่น แมคเคอเรล ทูน่า แซมอน และมีการกล่าวอ้างว่าสารเหล่านี้ที่มีอยู่ในน้ำมันปลาชนิดอาหารเสริมจะช่วยบำรุงสมอง ชะลอความจำเสื่อม และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

ด้านคุณประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า 3 นี้ มีข้อสันนิษฐานว่าเนื่องจาก DHA เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทในสมอง ประกอบกับทฤษฎีที่ว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมทั้งช่วยส่งเสริมและปกป้องเซลล์ประสาท ส่วนหลักฐานจากการศึกษาวิจัยนั้นพบผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป

งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาการใช้อาหารเสริม DHA ช่วยชะลอการเสื่อมถอยด้านการคิดและการทำงานของสมองในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีอาการในระยะเริ่มต้นจนถึงระยะกลาง โดยให้รับประทานอาหารเสริมที่มี DHA วันละ 2 กรัม นาน 18 เดือน ผลปรากฏว่าเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่รับประทานยาหลอกแล้ว อาหารเสริม DHA ไม่ได้มีส่วนช่วยชะลออาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง

ทว่าในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งมีการทดสอบประสิทธิภาพของการใช้ DHA เพื่อบำรุงการทำงานของสมองในผู้สูงอายุที่มีอาการเสื่อมถอยของสมอง ด้วยการให้รับประทาน DHA 900 มิลลิกรัมทุกวัน เป็นเวลา 24 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบว่ากลุ่มที่ได้รับ DHA มีการเรียนรู้และความทรงจำที่ดีขึ้น และมีประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพการทำงานของสมองในผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ด้วยผลลัพธ์ที่ไม่สอดคล้องกันของงานวิจัยทั้ง 2 ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจึงเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะยืนยันคุณสมบัติในการรักษาและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ของ DHA หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดอื่น ๆ ได้ จึงยังไม่มีการแนะนำให้ใช้


อย่างไรก็ตาม หากเลือกรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบอาหารเสริมควรต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ดังนี้

-    ไม่ควรรับประทานเกินกว่าวันละ 3 กรัม เพราะจะเสี่ยงต่อการมีเลือดออก หากต้องการรับประทานในปริมาณที่มากกว่าปกติควรปรึกษาแพทย์เป็นอันดับแรก เพื่อให้ทราบคำแนะนำในการใช้ที่เหมาะสมและปลอดภัย
-    น้ำมันปลาอาจมีผลข้างเคียงทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ หรือท้องเสียได้
-    น้ำมันปลามีกลิ่นคาวรุนแรง จึงอาจทำให้มีกลิ่นคาวปลาในปากหรือลมหายใจมีกลิ่นคาวหลังการรับประทานได้
-    ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการบริโภคน้ำมันปลาที่เป็นอาหารเสริมจะปลอดภัยต่อผู้ที่แพ้ปลาหรือสัตว์น้ำที่มีเปลือกหรือไม่
-    อาหารเสริมโอเมก้า 3 อาจทำให้เลือดหยุดไหลยาก ผู้ที่ใช้ยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาแก้อักเสบกลุ่มเอนเสด (NSAIDs) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้
-    ยังไม่มีข้อสรุปว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 ที่พบในอาหารทะเลและน้ำมันปลาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป


ความปลอดภัยในการใช้การรักษาทางเลือก

ในปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ที่ยืนยันว่าสมุนไพร อาหาร หรืออาหารเสริมใด ๆ จะช่วยป้องกันหรือรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างปลอดภัยและได้ผล และการรักษาทางการแพทย์เองก็ไม่มีการแนะนำให้ใช้ ผู้ที่ต้องการลองใช้เป็นทางเลือกควรพูดคุยปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะสมุนไพรหรืออาหารเสริมบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมา มีปฏิกิริยากับยารักษาโรคชนิดอื่น หรือกระทบต่อโรคหรือภาวะใด ๆ ที่เป็นอยู่ได้

สำหรับผู้ที่คิดว่าตัวเองมีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำหรือคาดว่าจะเกิดภาวะสมองเสื่อม ทางที่ดีที่สุดก็คือการไปพบแพทย์ เช่นเดียวกันหากสงสัยว่าบุคคลใกล้ชิดอาจป่วยด้วยโรคนี้ก็ควรสนับสนุนให้ไปตรวจรักษา และควรมีคนไปเป็นเพื่อนด้วย

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ปัญหาด้านความทรงจำที่เผชิญนั้นอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะสมองเสื่อม แต่อาจเป็นผลมาจากความเครียด ภาวะซึมเศร้า การใช้ยารักษาโรคบางชนิด หรือเกิดจากโรคอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งการไปพบแพทย์จะช่วยให้สามารถวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด


การรักษาทางการแพทย์ของโรคอัลไซเมอร์

การรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบันยังคงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด แม้จะทำได้เพียงการใช้ยารักษาและจัดการดูแลเพื่อช่วยบรรเทาอาการด้านความคิดและพฤติกรรม หรือชะลออาการของโรคลงได้บ้าง โดยแนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ทำได้ มีดังนี้

-    การวางแผนให้การช่วยเหลือดูแลทั้งทางด้านสุขภาพและด้านสังคม เพื่อให้การรักษาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยมากที่สุด
-    การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย โดยควรปรับสภาพแวดล้อมให้อำนวยต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เช่น จัดระเบียบและการติดตั้งอุปกรณ์การช่วยเหลือตามบริเวณบ้าน รวมถึงการสร้างนิสัยให้ผู้ป่วยใช้การคิดหรือการจำน้อยที่สุด เช่น จดบันทึกสิ่งที่ต้องทำ เก็บของจำเป็นไว้ในที่เดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดการหลงลืม
-    การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุภาพใจที่แจ่มใส เช่น การเดิน การปั่นจักรยานอยู่กับที่ ทั้งนี้ควรมีผู้ดูแลคอยเฝ้าดูเพื่อความปลอดภัยและไม่เกิดการพลัดหลง
-    การรับประทานอาหาร คอยดูแลให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ อาจหาเมนูเสริมเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำปั่นผลไม้ผสมโยเกิร์ต และอาจเพิ่มโปรตีนเพื่อการบำรุงด้วยก็ได้
-    การใช้ยา เป็นการช่วยรักษาบางอาการและชะลอการพัฒนาของโรคได้ชั่วคราว ที่มักนำมาใช้คือกลุ่มยาโคลีนเอสเทอเรส (Cholinesterase Inhibitor) เช่น โดนีพีซิล (Donepezil) กาแลนตามีน (Galantamine) และไรวาสติกมีน (Rivastigmine) และบางครั้งก็อาจใช้ยาเมแมนทีน (Memantine) ร่วมรักษากับยากลุ่มนี้ด้วย