ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: มะเร็งโพรงหลังจมูก (Nasopharyngeal cancer)  (อ่าน 44 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 165
  • รับจ้างโพสประกาศ, รับโพสเวบบอร์ด
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: มะเร็งโพรงหลังจมูก (Nasopharyngeal cancer)

มะเร็งโพรงหลังจมูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อชาติจีน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 2-3 เท่า พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในช่วงอายุ 50-60 ปี

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติ (พบในคนเชื้อชาติจีนมากกว่าคนไทย) และมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การติดเชื้ออีบีวี (Ebstein-Barr virus/EBV) การบริโภคอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (ซึ่งมีในเนื้อสัตว์รมควัน หมักดอง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม) การระคายเคืองเรื้อรัง เช่น กำยาน ควันธูป ควันไฟจากการเผาไม้หรือหญ้า

ผู้ที่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัวมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงกว่าคนปกติ


อาการ

ระยะแรกมักไม่มีอาการแสดงชัดเจน ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะลุกลามแล้ว ด้วยอาการคัดแน่นจมูกข้างหนึ่ง มีน้ำมูกปนเลือด มีเลือดกำเดาไหลบ่อย หูอื้อหรือมีเสียงในหูข้างหนึ่ง (เนื่องจากก้อนมะเร็งอุดกั้นท่อยูสเตเชียน) มีก้อนแข็งข้างคอขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 ซม. (มะเร็งลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างคอ) ชาและเสียวที่แก้มข้างที่เป็นมะเร็ง ตาเข เห็นภาพซ้อน (จากกล้ามเนื้อกลอกลูกตาเป็นอัมพาต จากมะเร็งที่ลุกลามกดเบียดเส้นประสาท)

นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดหู หูชั้นกลางอักเสบซึ่งกำเริบบ่อย เจ็บคอ เสียงแหบ มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด สำลักน้ำขึ้นจมูก อ้าปากไม่ขึ้น กลืนลำบาก พูดลำบาก หายใจลำบาก เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อน

ก้อนมะเร็งอาจลุกลามไบยังบริเวณข้างเคียง ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ (ทำให้หายใจลำบาก) กลืนอาหารลำบาก

ในระยะท้าย มะเร็งมักแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ), สมอง (ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชา และเป็นอัมพาต ชัก)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการใช้กระจกเล็ก ๆ หรือกล้องส่องเข้าไปในโพรงหลังจมูก และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งทำการตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันต่อไวรัสอีบีวี (ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยและติดตามผลภายหลังการรักษา) ตรวจชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองข้างคอ และทำการตรวจพิเศษ เช่น ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์ปอด สแกนกระดูกดูการแพร่กระจายของมะเร็ง

หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยรังสีบำบัด (การฉายรังสีหรือใส่แร่) หรือรังสีบำบัดร่วมกับเคมีบำบัด ส่วนการผ่าตัด อาจทำในกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองที่คอออกไป น้อยรายที่ใช้วิธีผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งที่โพรงหลังจมูกออกไป

ผลการรักษา ถ้าเป็นระยะแรก ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีมากกว่าร้อยละ 70) แต่ถ้าเป็นระยะแพร่กระจาย มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 40


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการคัดแน่นจมูกข้างหนึ่งหรือหูอื้อข้างหนึ่งเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ ๆ, มีน้ำมูกปนเลือด, มีเลือดกำเดาไหลบ่อย, ชาและเสียวที่แก้มข้างหนึ่ง, เจ็บคอหรือปวดหูเรื้อรัง, มีก้อนแข็งข้างคอขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 ซม. เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบและงานจิตอาสาเท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนหรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวดประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก ซีด มีเลือดออก ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน กินไม่ได้ หายใจลำบาก เป็นต้น
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโพรงหลังจมูกด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

    ลดการบริโภคอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (ซึ่งมีในเนื้อสัตว์รมควัน หมักดอง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม)
    หลีกเลี่ยงการถูกสิ่งระคายเคือง เช่น กำยาน ควันธูป ควันไฟจากการเผาไม้หรือหญ้า

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีอาการคัดแน่นจมูกทุกวันนานเกิน 2-3 สัปดาห์ กินยาแก้หวัดคัดจมูกไม่ทุเลา หรือมีอาการหูอื้อข้างหนึ่งร่วมด้วย พึงสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก และควรไปปรึกษาแพทย์

2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี