ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โรคหลอดเลือดสมอง/สโตรก (Stroke/Cerebrovascular acci  (อ่าน 46 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 246
  • รับจ้างโพสประกาศ, รับโพสเวบบอร์ด
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โรคหลอดเลือดสมอง/สโตรก (Stroke/Cerebrovascular accident/CVA) สมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) อัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegia)

โรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาตครึ่งซีก* จัดว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยในบ้านเราขณะนี้ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ และเป็นได้ทั้งหญิงและชาย

โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงในสมอง กล่าวคืออาจมีการตีบ ตัน หรือแตกของหลอดเลือดเหล่านี้ ทำให้เนื้อสมองบางส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายตายไปและหยุดสั่งงาน จึงทำให้เกิดอาการอัมพาตของร่างกายส่วนนั้น ๆ ขึ้น

อาการมักจะเกิดขึ้นฉับพลันทันที เรียกว่า โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สโตรก (stroke) โรคลมอัมพาต หรือ โรคลมปัจจุบัน

*อัมพาต (paralysis) หมายถึง อาการอ่อนแรงของแขนขาหรืออวัยวะภายนอกอื่น ๆ (เช่น ใบหน้า ตา ปาก) ทำให้ร่างกายส่วนนั้นเคลื่อนไหวไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติ โดยอาจมีอาการชา (ไม่รู้สึกเจ็บ) ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

ถ้าขาทั้ง 2 ข้างมีอาการอ่อนแรง หรือขยับเขยื้อนไม่ได้ เรียกว่า อัมพาตครึ่งล่าง (paraplegia) ถ้าแขนขาทั้ง 4 ขยับเขยื้อนไม่ได้ เรียกว่า อัมพาตหมดทั้งแขนขา (quadriplegia) อัมพาตทั้ง 2 ลักษณะนี้มักมีสาเหตุจากโรคของไขสันหลัง (ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน, ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ, เนื้องอกไขสันหลัง)

แต่ถ้าแขนขาเพียงซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง หรือขยับเขยื้อนไม่ได้ เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก (hemiplegia) ซึ่งเป็นเรื่องที่จะกล่าวถึงในที่นี้

สาเหตุ

โรคนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ซึ่งมีอาการแสดง ความรุนแรง และวิธีการรักษาที่ต่างกัน ดังนี้

1. สมองขาดเลือดจากการอุดตัน (ischemic stroke) พบได้ประมาณร้อยละ 80 ของโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่

(1) หลอดเลือดสมองตีบ (cerebral thrombosis/thrombotic stroke) เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบจากการสะสมของไขมันที่ผนังด้านในของหลอดเลือด* ซึ่งจะค่อย ๆ พอกหนาตัวขึ้นทีละน้อยจนเกิดการตีบตันของหลอดเลือด หรือเกิดจากการมีลิ่มเลือด (thrombosis) ในหลอดเลือดขยายตัวจนอุดตันหลอดเลือด ทำให้เซลล์สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งหากแก้ไขไม่ทัน เซลล์สมองเกิดการตาย จะทำให้กล้ามเนื้อแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตอย่างถาวร

โรคนี้มักพบในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือมีประวัติสูบบุหรี่ ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ก่อนวัยสูงอายุ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเร็วกว่าปกติ

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุมาก (≥ 55 ปีในผู้ชาย และ 65 ปีในผู้หญิง) ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด หญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสูบบุหรี่ร่วมด้วย) คนอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นอัมพาตครึ่งซีกก็อาจมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตันเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตครึ่งซีกที่พบได้บ่อยกว่าสาเหตุอื่น ๆ และมีอันตรายน้อยกว่าหลอดเลือดสมองแตก

ภาวะสมองขาดเลือดจากการอุดตัน นอกจากเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงในสมองแล้ว ยังพบว่าประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยสโตรกเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่คอหรือหลอดเลือดคาโรติด (carotid artery) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง

(2) ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง (cerebral embolism/embolic stroke) เนื่องจากมี "สิ่งหลุด" ซึ่งเป็นลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดที่อยู่นอกสมอง (ที่พบบ่อยคือ ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดแดงที่คอและหัวใจ) หลุดลอยตามกระแสเลือดขึ้นไปอุดตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เซลล์สมองตายเพราะขาดเลือด มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงที่คอตีบ (carotid artery disease) และโรคหัวใจ (เช่น โรคหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว หรือ atrial fibrillation, โรคหัวใจรูมาติก, กล้ามเนื้อหัวใจตาย, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, เยื่อบุหัวใจอักเสบ, โรคลิ้นหัวใจพิการ, ผู้ป่วยที่ผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น) นอกจากนี้ยังอาจพบในผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงมาก (polycythemia), ผู้ป่วยที่มีไขกระดูกหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง (ซึ่งพบในผู้ป่วยที่กระดูกหัก)

2. หลอดเลือดสมองแตก/เลือดออกในสมอง (cerebral hemorrhage/hemorrhagic stroke) ทำให้เนื้อสมองโดยรอบตาย พบได้ประมาณร้อยละ 20 ของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (สโตรก) ถือเป็นภาวะร้ายแรง อาจทำให้ผู้ป่วยตายได้ในเวลารวดเร็ว มีอัตราตายโดยเฉลี่ยร้อยละ 40-50

ถ้าพบในผู้สูงอายุมักมีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น หลอดเลือดโป่งพอง (congenital aneurysm) หลอดเลือดฝอยผิดปกติ (arteriovenous malformation/AVM) เป็นต้น หลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้มักจะแตกและทำให้เกิดอาการอัมพาตเมื่อผู้ป่วยอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน

บางรายอาจมีสาเหตุจากภาวะการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง (เช่น ตับแข็ง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคเลือดบางชนิด เป็นต้น) การได้รับยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) สารกันเลือดเป็นลิ่ม (เช่น วาร์ฟาริน) หรือยาเสพติด (แอมเฟตามีน โคเคน) การดื่มแอลกอฮอล์จัด เนื้องอกสมองที่มีภาวะเลือดออก การบาดเจ็บที่ศีรษะ (ดูเพิ่มเติมใน "ภาวะศีรษะได้รับบาดเจ็บ เลือดออกในสมอง") เป็นต้น

*ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) เกิดจากการมีไขมันสะสมที่ผนังด้านในของหลอดเลือดแดงเป็นแผ่น เรียกว่า “แผ่นคราบไขมัน (atherosclerotic plaque)” หรือ “ตะกรันท่อเลือดแดง (atheroma)” ซึ่งประกอบด้วยไขมัน คอเลสเตอรอล และสารอื่น เช่น แคลเซียม เนื้อเยื่อเส้นใย เม็ดเลือดขาว-มาโครฟาจ (macrophage)

เมื่อแผ่นคราบหรือตะกรันดังกล่าวหนาตัวขึ้น ทำให้หลอดเลือดมีรูที่ตีบแคบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ (เช่น หัวใจ สมอง ไต แขนขา) น้อยลง อวัยวะนั้น ๆ เกิดภาวะขาดเลือด ทำให้เซลล์ของอวัยวะนั้นตายหรืออวัยวะนั้นเสื่อมได้ เช่น ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (แขนขา) ตีบ ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น     

นอกจากนี้ แผ่นคราบไขมันอาจมีความเปราะและแตกได้ ทำให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นตรงรอยแตกของแผ่นคราบ เกิดการอุดตันหลอดเลือดโดยตรง หรือหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดแขนงที่มีขนาดเล็กกว่า ขณะเดียวกัน อาจมีเศษของแผ่นคราบที่แตกหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดแขนงเล็กได้เช่นกัน เช่น แผ่นคราบหรือลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดคาโรติด (หลอดเลือดแดงที่คอ ซึ่งมีขนาดใหญ่) หลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็กในสมอง ทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) หรือโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (สโตรก) ได้

อาการ

1. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรงลงทันทีทันใด ผู้ป่วยอาจสังเกตพบอาการแขนขาข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตขณะตื่นนอน หรือขณะเดินหรือทำงานอยู่ก็รู้สึกทรุดล้มลงไป ผู้ป่วยอาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ได้ เช่น อาการชาตามแขนขา ตามัว เห็นภาพซ้อน หนังตาตก ปากเบี้ยว (เวลายิ้มกว้างเห็นมีมุมปากตกข้างหนึ่ง) พูดไม่ได้ หรือพูดอ้อแอ้ หรือกลืนไม่ได้

บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือมีความรู้สึกสับสนนำมาก่อนที่จะมีอาการอัมพาต

ผู้ป่วยมักจะมีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรงเพียงข้างใดข้างหนึ่ง (อัมพาตครึ่งซีก) เท่านั้น กล่าวคือ ถ้าการตีบตันของหลอดเลือดเกิดขึ้นในสมองข้างซ้าย ก็จะมีอาการอัมพาตที่ซีกขวา (ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตซีกขวาอาจพูดไม่ได้ เพราะศูนย์ควบคุมการพูดอยู่ในสมองข้างซ้าย) ถ้าเกิดขึ้นในสมองข้างขวาก็จะเกิดอาการอัมพาตที่ซีกซ้าย

ผู้ป่วยส่วนมากจะรู้สึกตัวดี หรืออาจจะซึมลงเล็กน้อย ยกเว้นในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการหมดสติร่วมด้วย

อาการอัมพาตมักจะเป็นอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมงขึ้นไป และจะเป็นอยู่นานเป็นแรมเดือนแรมปี หรือตลอดชีวิต

ผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการแขนขาซีกหนึ่งชาและอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ตามัว หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุน ซึ่งมักจะเป็นนานประมาณ 2-30 นาที (น้อยรายที่อาจนานเป็นชั่วโมง เต็มที่จะไม่เกิน 24 ชั่วโมง) แล้วหายเป็นปกติได้เอง เรียกว่า โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ หรือทีไอเอ (TIA ซึ่งย่อมาจาก transient ischemic attack)*

2. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง จะมีอาการคล้ายในข้อ 1 แต่อาการอัมพาตมักเกิดขึ้นฉับพลันทันที อาจมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ผ่าตัดหัวใจ หรือกระดูกหักมาก่อน

3. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดสมองแตก อาการมักเกิดขึ้นทันทีทันใดโดยไม่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า บางรายอาจเกิดอาการขณะทำงานออกแรงมาก ๆ หรือขณะร่วมเพศ ผู้ป่วยอาจบ่นปวดศีรษะรุนแรงหรือปวดศีรษะซีกเดียวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย แล้วก็มีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนขาค่อย ๆ อ่อนแรง อาจชักและหมดสติในเวลารวดเร็ว

ถ้าตกเลือดรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการหมดสติ ตัวเกร็ง รูม่านตาหดเล็กทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมักจะตายใน 1-2 วัน

ถ้าตกเลือดไม่รุนแรง ก็อาจมีโอกาสฟื้นและค่อย ๆ ดีขึ้น หรือถ้าได้รับการผ่าตัดได้ทันท่วงทีก็อาจช่วยให้รอดได้

ในกรณีที่เกิดจากการแตกของหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm) หรือหลอดเลือดฝอยผิดปกติ (AVM) ซึ่งมักพบในช่วงอายุ 25-50 ปี อาจมีเลือดรั่วซึมเล็กน้อยนำมาก่อน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง อาจมีอาการปวดใบหน้าและเห็นภาพซ้อนร่วมด้วยนานเป็นนาที ๆ ถึงเป็นสัปดาห์ เมื่อหลอดเลือดแตกจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันและหมดสติ อาจหมดสติอย่างต่อเนื่อง หรือหมดสติอยู่ระยะหนึ่งแล้วฟื้นคืนสติ แต่จะมีอาการสับสน ง่วงนอน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน

*โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) เกิดจากสมองขาดเลือดจากการอุดตันเพียงชั่วขณะ อาจเกิดจากหลอดเลือดแดงในสมองหรือหลอดเลือดแดงที่คอตีบตัน หรือมีสิ่งหลุดจากหลอดเลือดแดงที่อยู่นอกกะโหลกศีรษะลอยไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการแสดง สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกันแบบเดียวกับโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (สโตรก) ต่างกันตรงที่โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะจะมีอาการอยู่นานไม่เกิน 24 ชั่วโมง (ส่วนใหญ่จะเป็นเพียง 2-30 นาที) แล้วหายได้เอง โดยร่างกายเกิดกลไกธรรมชาติที่สามารถทำให้การอุดตันนั้นหายไปได้อย่างรวดเร็ว เปิดทางให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้เป็นปกติ
เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะหากไม่ได้รับการรักษา ประมาณร้อยละ 10-20 จะกลายเป็นสโตรกตามมาภายใน 3 เดือน (ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นสโตรกภายใน 2 วันหลังเป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ) และผู้ที่เป็นสโตรก ประมาณร้อยละ 15-30 จะมีประวัติว่าเคยมีอาการของโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะมาก่อน โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะจึงถือเป็นสัญญาณเตือนภัยของการเกิดโรคสโตรก ดังนั้น หากมีอาการสมองขาดเลือด (เช่น แขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรง พูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว) ไม่ว่าสงสัยจะเป็นโรคสโตรกหรือโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลด่วน ทั้ง 2 โรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ซึ่งจะป้องกันไม่ให้กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีกอย่างถาวร

ภาวะแทรกซ้อน

    มีอาการแขนขาอ่อนแรง เคลื่อนไหว หรือเดินลำบาก อาจทำให้หกล้ม กระดูกหัก หรือศีรษะได้รับบาดเจ็บได้
    ปากเบี้ยว พูดลำบาก กลืนอาหารลำบาก หรือสำลักอาหาร (เกิดภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจหรือปอดอักเสบ)
    ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง มีความรู้สึกเป็นภาระให้คนอื่น สูญเสียความมั่นใจในตนเอง เก็บตัว ไม่เข้าสังคม
    บางรายอาจมีความจำเสื่อม คิดช้า ไม่เข้าใจเหตุผล หรือตัดสินใจไม่ได้
    ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หงุดหงิดง่าย หรือเป็นโรคซึมเศร้า
    ในรายที่เป็นอัมพาตเรื้อรังและนอนติดเตียง อาจเกิดแผลกดทับ (bed sores) ที่ก้น หลัง และข้อต่าง ๆ อาจเป็นปอดอักเสบ หรือโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบแทรกซ้อนได้บ่อย ๆ ซึ่งอาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษที่ร้ายแรงตามมาได้

นอกจากนี้การนอนติดเตียงนาน ๆ อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ซึ่งทำให้เกิดภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

    ในรายที่เป็นรุนแรงหรือมีโรคที่พบร่วม (เช่น โรคหัวใจ ชีพจรเต้นผิดจังหวะ) อาจเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนทางสมอง หรือโรคหัวใจ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย


การตรวจร่างกาย นอกจากอาการอัมพาตของแขนขาซีกหนึ่งแล้ว อาจมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ซึม ความดันโลหิตสูง รีเฟล็กซ์ของข้อ (tendon reflex) ไวกว่าปกติ อาจมีอาการหายใจช้าหรือหายใจไม่สม่ำเสมอ

ในรายที่เกิดจากภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง การตรวจร่างกายอาจพบความผิดปกติของหัวใจ เช่น ฟังได้เสียงฟู่ (murmur) หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเต้นแผ่วระรัวร่วมด้วย

ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก อาจมีอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว หมดสติ คอแข็ง และความดันโลหิตสูงรุนแรงร่วมด้วย อาจตรวจพบรูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน ถ้าเป็นรุนแรงอาจพบรูม่านตาหดเล็กทั้ง 2 ข้าง

ในรายที่เป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ หากมาพบในระยะที่อาการหายแล้ว มักตรวจไม่พบอาการผิดปกติทางสมอง นอกจากภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุ (เช่นความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นผิดปกติ โรคหัวใจ)

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพสมองด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดสมอง (cerebral angiogram) การตรวจหลอดเลือดแดงที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (carotid doppler ultrasound) การถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiogram) การเจาะหลัง การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุ ดังนี้

1. ในรายที่เป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) ซึ่งมีอาการเพียงชั่วขณะแล้วหายเป็นปกติได้เอง แพทย์จะให้ยาควบคุมโรคหรือภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นต้น และให้ยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดขึ้นใหม่ ยาที่ใช้ได้แก่ แอสไพริน ขนาด 81-325 มก. วันละครั้ง ทุกวัน ในรายที่กินแอสไพรินไม่ได้ จะให้โคลพิโดเกรล (clopidogrel) แทน

ในรายที่ตรวจพบว่า หลอดเลือดแดงที่คอ (carotid artery) มีการตีบมากกว่าร้อยละ 70 อาจต้องทำการผ่าตัดหลอดเลือด (endarterectomy) เพื่อขจัดแผ่นคราบไขมันและลิ่มเลือดออกไป บางรายอาจใช้บัลลูนขยายหลอดเลือดและใส่หลอดลวดตาข่าย (stent)

ผลการรักษา สำหรับโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ การได้รับการรักษาโดยเร็วและต่อเนื่อง นอกจากป้องกันไม่ให้อาการของโรคนี้กลับมากำเริบใหม่แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสโตรกตามมาได้ถึงร้อยละ 80 อีกด้วย

2. ในรายที่เป็นสโตรกที่เกิดจากสมองขาดเลือดจากการอุดตัน (หลอดเลือดสมองตีบและสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง) นอกจากให้การรักษาตามอาการ (เช่น ให้น้ำเกลือ ช่วยการหายใจ ควบคุมชีพจรถ้าเต้นแผ่วระรัว ยาลดไข้ถ้าไข้สูง ให้ยาลดความดันโลหิตถ้าสูงมาก) แล้ว เมื่อถ่ายภาพสมองยืนยันว่าเกิดจากภาวะนี้ (ไม่ใช่เลือดออกในสมอง) แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic agent) ได้แก่ recombinant tissue-type plasminogen activator (rt-PA) เข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อเปิดทางให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมอง ทำให้เซลล์สมองไม่ตาย ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสู่ปกติได้เร็ว ยานี้จะได้ผลดีต้องให้ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง (270 นาที) นับแต่เริ่มเกิดอาการ และผู้ป่วยจะต้องไม่มีภาวะที่เป็นข้อห้ามในการใช้ยานี้ (เช่น หมดสติ ชักเมื่อแรกมีอาการ ความดันโลหิต > 185/110 มม.ปรอท เกล็ดเลือดต่ำ ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ภาวะการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง มีภาวะเลือดออก เป็นต้น)

ในบางกรณี แพทย์อาจให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (anti-coagulant) ได้แก่ เฮพาริน (heparin) ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว โรคลิ้นหัวใจพิการ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดซ้ำ ถ้าให้ตามหลังยาละลายลิ่มเลือด (tPA) ควรทิ้งช่วงให้ห่างอย่างน้อย 24 ชั่วโมงขึ้นไป

หลังจากอาการคงที่แล้ว แพทย์จะให้ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน, โคลพิโดเกรล) ให้ยาควบคุมโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ และทำการฟื้นฟูสภาพ โดยการทำกายภาพบำบัดและการใช้อุปกรณ์ช่วย

ในรายที่ตรวจพบมีหลอดเลือดแดงที่คอตีบ อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดหลอดเลือด หรือใช้บัลลูนขยายหลอดเลือด

ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นเล็กน้อยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกก็อาจหายเป็นปกติ หรือฟื้นสภาพได้จนเกือบปกติ จนช่วยตัวเองได้ พูดได้ เดินได้ แต่อาจใช้มือไม่ถนัด ในรายที่เป็นรุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็มักจะมีความพิการหรือบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งต้องการการดูแลจากผู้อื่น นั่งรถเข็น หรือใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน

ส่วนน้อยที่จะพิการรุนแรงจนต้องนอนอยู่บนเตียง และต้องการผู้ดูแลตลอดเวลา หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตขณะพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาล

โดยทั่วไปการฟื้นตัวของร่างกายมักจะต้องใช้เวลา ถ้าจะดีขึ้นก็จะเริ่มมีอาการดีขึ้นให้เห็นภายใน 2-3 สัปดาห์ และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถช่วยตัวเองได้หรือหายจนเกือบเป็นปกติ

3. ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้น้ำเกลือ ใส่ท่อหายใจและเครื่องช่วยหายใจ ควบคุมความดันโลหิตถ้าสูงรุนแรง เป็นต้น ในรายที่มีก้อนเลือดในสมองอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดสมองแบบเร่งด่วน ส่วนในรายที่มีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและไม่กดถูกสมองส่วนสำคัญ ก็อาจไม่ต้องผ่าตัด เมื่อปลอดภัยแล้วจึงค่อยทำการฟื้นฟูสภาพต่อไป

ผลการรักษา ขึ้นกับตำแหน่งและปริมาณของเลือดที่ออก สภาพของผู้ป่วย (อายุ โรคประจำตัว) และการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

ถ้าเลือดออกในก้านสมองจะมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 90-95 เมื่อพบภาวะนี้มักจะไม่สามารถให้การบำบัดรักษา

ถ้าก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ และแตกเข้าโพรงสมอง จะมีอัตราตายถึงร้อยละ 50

ถ้าเลือดออกที่บริเวณผิวสมอง หรือก้อนเลือดขนาดเล็ก และไม่แตกเข้าโพรงสมองจะมีอัตราตายต่ำ

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หากรอดชีวิต ก็มักจะมีความพิการอย่างถาวร บางรายอาจกลายสภาพเป็นผักหรือคนนิทรา (vegetative state) อยู่นานหลายปี ในที่สุดมักเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ โรคติดเชื้อต่าง ๆ

ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุน้อย ซึ่งมักเกิดจากการแตกของหลอดเลือดที่ผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด ถ้าแตกตรงตำแหน่งที่ไม่สำคัญ และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก มักจะสามารถฟื้นหายได้เป็นปกติ

ผู้ป่วยหลังผ่าตัดบางราย แม้ว่าร่างกายจะฟื้นตัวได้ดี แต่อาจมีโรคลมชักแทรกซ้อนตามมา ซึ่งจำเป็นต้องกินยากันชักควบคุมอาการตลอดไป


การดูแลตนเอง

หากอยู่ ๆ มีอาการแขนขาซีกหนึ่งชาหรืออ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ หรือมีอาการปวดศีรษะรุนแรงหรือปวดศีรษะซีกเดียวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แล้วก็มีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนขาค่อย ๆ อ่อนแรง อาจชักและหมดสติในเวลารวดเร็ว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (สโตรก) หรือโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดชั่วขณะ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

เมื่อได้รับการรักษาจนสามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ดูแลรักษา กินยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    กินอาหารสุขภาพ (ลดอาหารหวาน มัน เค็ม) ลดน้ำหนัก (ถ้าน้ำหนักเกิน) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หาทางผ่อนคลายความเครียด (เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิ) เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกาย (เท่าที่ร่างกายจะอำนวย)
    ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    หลีกเลี่ยงการซื้อยา สมุนไพร อาหารเสริมมาใช้เอง หากจะใช้ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีและความปลอดภัย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้ตับอักเสบหรือไตเสื่อมได้ หรืออาจมีปฏิกิริยากับยาที่รักษา (เสริมหรือต้านฤทธิ์ยา) เกิดผลเสียต่อการควบคุมโรคหรือเกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตราย (เช่น เลือดออก น้ำตาลในเลือดต่ำ) ได้
    ฝึกทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์/นักกายภาพบำบัด เช่น พยายามบริหารข้อโดยการเหยียดและงอแขนขาตรงทุก ๆ ข้อต่อบ่อย ๆ เพื่อป้องกันมิให้ข้อเกร็งแข็ง, หมั่นบริหารกล้ามเนื้อ และพยายามใช้แขนขาเพื่อให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น (ถ้าผู้ป่วยนอนเฉย ๆ ไม่พยายามใช้แขนขา กล้ามเนื้อก็จะลีบและข้อแข็ง) ฝึกเดิน ฝึกพูด ฝึกเขียนหนังสือ
    ในกรณีที่นอนติดเตียง ควรใช้ที่นอนที่ลดแรงกดทับ (เช่น ที่นอนน้ำ ที่นอนลม) และผู้ดูแลควรทำการพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันแผลกดทับ (bed sores) ที่ก้น หลัง ข้อต่าง ๆ
    ให้อาหารและน้ำให้เพียงพอ บางรายอาจต้องป้อนทางสายยาง (ที่ใส่ผ่านจมูกหรือหน้าท้องเข้าไปที่กระเพาะอาหาร) ถ้าขาดน้ำ ผู้ป่วยจะซึม หรืออาการเลวลง ระมัดระวังในการป้อนอาหารแก่ผู้ป่วย อย่าให้สำลัก
    ถ้ามีสายสวนปัสสาวะ หรือสายป้อนอาหาร ควรดูแลให้สะอาดปลอดภัย และคอยเปลี่ยนสายใหม่ตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีไข้สูง หนาวสั่น ท้องเดิน อาเจียน ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปน
    ปวดศีรษะรุนแรง สับสน ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก หรือหายใจหอบหรือลำบาก
    กินอาหาร หรือดื่มน้ำได้น้อย
    มีแผลกดทับเกิดขึ้น
    ยาหาย ขาดยา หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
    มีความวิตกกังวล

การป้องกัน

    งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด ลดเกลือและน้ำตาล ลดอาหารที่มีไขมันมาก ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเร็ว
    ตรวจเช็กความดันโลหิต เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือด ถ้ามีภาวะผิดปกติควรรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เมื่อควบคุมโรคเหล่านี้ได้ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
    ถ้ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรทำการรักษา รวมทั้งควบคุมปัจจัยเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของภาวะนี้ (เช่น ภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
    ถ้าเคยมีอาการแขนขาอ่อนแรงชั่วคราวจากสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) ควรรีบปรึกษาแพทย์ ดูแลรักษาและกินยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคสโตรกจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง
    ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจรูมาติก ผู้ป่วยผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น ควรดูแลรักษา และกินยาแอสไพรินหรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันมิให้เกิดลิ่มเลือดที่หัวใจแล้วหลุดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง

ข้อแนะนำ

1. โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (TIA) ซึ่งจะมีอาการเพียงระยะสั้น ๆ แล้วหายไปได้เองตั้งแต่ที่บ้านหรือระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล อาจทำให้ผู้ป่วยและญาติคิดว่าไม่เป็นไร และชะล่าใจไม่ไปตรวจรักษากับแพทย์ ผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการกำเริบใหม่ หรือกลายเป็นโรคสโตรกในเวลาต่อมาได้ ดังนั้นหากมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ก็ควรไปโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อทำการบำบัดรักษาให้ปลอดภัยและไม่กลายเป็นคนพิการ


2. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง บางรายอาจฟื้นตัวได้เร็วและช่วยตัวเองได้ บางรายอาจฟื้นตัวช้า หรือพิการตลอดไป แต่สติปัญญาของผู้ป่วยส่วนมากยังดีเช่นปกติ ญาติควรแสดงความเห็นอกเห็นใจ พูดคุย ให้กำลังใจผู้ป่วย และให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ (การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ งานอดิเรก การออกสังคม) เท่าที่ร่างกายจะอำนวย เพื่อฝึกสมองและสร้างคุณค่าในตัวผู้ป่วย


3. สำหรับผู้ที่ร่างกายฟื้นตัวเป็นปกติหรือมีอาการอ่อนแรงเพียงเล็กน้อยซึ่งสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีแล้ว สามารถทำงานและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งอาจต้องมีคนคอยร่วมเดินทางไปด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็ยังต้องดูแลรักษาตัวเองและติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และคอยเฝ้าระวังอาการที่อาจกำเริบขึ้นได้