ผู้เขียน หัวข้อ: โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A)  (อ่าน 20 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 243
  • รับจ้างโพสประกาศ, รับโพสเวบบอร์ด
    • ดูรายละเอียด
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A)
« เมื่อ: วันที่ 18 พฤศจิกายน 2024, 15:17:50 น. »
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A)

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A) คือโรคที่มีการอักเสบของตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (HAV) อาการแสดงที่พบมีตั้งแต่อาการป่วยในระดับอ่อนไปจนถึงระดับรุนแรง เช่น ปวดหัว มีไข้ตัวร้อน รู้สึกเหนื่อยล้าไม่สบายตัว ไม่อยากอาหาร มีผดผื่นคัน ปวดท้อง ท้องร่วง หรือท้องผูก

ไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถติดต่อกันได้ผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ การสัมผัสกับสิ่งสกปรกและอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือผู้ที่ติดเชื้อ และจากการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ผิดสุขอนามัย หากไม่ได้รับการรักษาจนโรคมีความรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะรุนแรงอย่างเช่นตับวายได้ แม้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยนักก็ตาม


อาการของไวรัสตับอักเสบ เอ

หลังจากได้รับเชื้อ ระยะการฟักตัวของเชื้อจะอยู่ที่ 2–4 สัปดาห์ ก่อนจะมีอาการแสดงออกมา ผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่ป่วยเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิต

อาการที่พบในระยะเริ่มแรก คือ

    มีไข้อ่อน ๆ มักต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส
    รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่สบาย
    ปวดหัว ไอ เจ็บคอ
    ไม่อยากอาหาร
    ท้องผูก หรือท้องร่วง
    ปวดบริเวณท้องขวาบน
    ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ
    อาจมีผื่นลมพิษมีผดผื่นคัน

เมื่อโรคมีความรุนแรงขึ้น อาการที่มักพบได้ เช่น คันตามผิวหนัง มีภาวะดีซ่าน ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีอ่อน บริเวณท้องด้านบนขวาบวมและเจ็บปวดเมื่อกดลงไป

โดยสัญญาณสำคัญของอาการป่วยขั้นรุนแรงที่แสดงว่าไวรัสได้แพร่กระจายจนส่งผลต่อการทำงานของตับ คือ ง่วงซึม สับสน ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับความจำและการตั้งสมาธิ มีจ้ำเลือด มีเลือดออกง่ายอย่างเลือดกำเดาและเลือดออกตามไรฟัน อาเจียนอย่างกะทันหันหรืออาเจียนอย่างหนัก หากมีอาการที่น่าสงสัยดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที


สาเหตุของไวรัสตับอักเสบ เอ

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัส เอ จากผู้ที่ติดเชื้อผ่านการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโดยไม่ปรุงให้สุกและไม่ผ่านการล้างทำความสะอาด ทำให้ยังมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ หรือไม่ล้างมือหลังสัมผัสสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วใช้มือหยิบจับรับประทานอาหารหรือปรุงอาหาร

รวมถึงสาเหตุที่พบได้น้อยอย่างการได้รับเชื้อผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย


การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ เอ

แพทย์จะใช้วิธีการตรวจเลือดหาภูมิต้านทานโรคต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ (HAV-specific Immunoglobulin Antibody) วิธีนี้สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อ 2 ชนิด คือ Anti HAV IgM ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นในระยะแรกของการติดเชื้อ แสดงถึงภาวะการติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน

และ Anti HAV total Ab ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นทั้งในระยะแรกและระยะหลังของการติดเชื้อ แสดงถึงร่างกายได้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ แล้ว หรือเคยได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ มาก่อน โดยภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะสามารถคงอยู่ไปตลอด

ส่วนการส่งตรวจเพื่อหาผลเพิ่มเติม ใช้ในกรณีที่ตรวจด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ทราบผลที่แน่ชัด จึงจะใช้วิธีตรวจหาสารพันธุกรรมในเลือดด้วยการเพิ่มจำนวนพันธุกรรม RNA ของไวรัสตับอักเสบ เอ แล้วดูผลจากสารเรืองแสงในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากปริมาณของสารพันธุกรรมของเชื้อที่ปนอยู่ในเลือดมีน้อยมาก การตรวจจึงต้องใช้วิธีการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมเพื่อการตรวจหาเชื้อที่แน่ชัดขึ้น แต่ไม่ได้ใช้ตรวจในกรณีทั่ว ๆ ไป


การรักษาไวรัสตับอักเสบ เอ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาไวรัสตับอักเสบ เอเฉพาะเจาะจง แต่จะเป็นการรักษาตามอาการที่ปรากฏ โดยอาการป่วยจะทุเลาลงและค่อย ๆ ฟื้นตัวภายในเวลาประมาณ 2 เดือน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เพิ่มเติม

การรักษาตัวในช่วงพักฟื้น ได้แก่

    รับประทานยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวดหัวหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ยาพาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน แต่การใช้ยาบรรเทาอาการต้องขึ้นอยู่กับสุขภาพของตับ หากตับมีความเสียหายจากการอักเสบมาก ควรงดการใช้ยาหากไม่จำเป็น
    พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้นเมื่อมีอาการง่วงซึม อ่อนล้า อ่อนเพลีย
    ลดผดผื่นคันตามผิวหนัง ให้อยู่ในบริเวณที่เย็นสบาย มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น รวมทั้งสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง แพ้ง่าย และระคายเคือง หากมีผดผื่นคันรุนแรง แพทย์อาจให้ใช้ยาต้านฮิสตามีนเพื่อบรรเทาอาการ
    รับประทานอาหารอ่อน ๆ และย่อยง่าย เพื่อลดปัญหาอาการคลื่นไส้อาเจียน หากอาการยังทรงตัวและไม่ดีขึ้น แพทย์จะให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนเพื่อรักษาอาการ
    ให้สารน้ำทดแทนในผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนและท้องร่วงหนัก แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานสารละลายเกลือแร่ หรือเติมน้ำเกลือเข้าร่างกายทางหลอดเลือดดำ
    หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งเพิ่มความเครียดให้ตับ ทำให้ตับทำงานหนักขึ้น ส่งผลต่อกระบวนการอักเสบเดิมที่มีอยู่แล้วให้อาการทรุดลงได้


ภาวะแทรกซ้อนของไวรัสตับอักเสบ เอ

การป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ตับในระยะยาวหรือเรื้อรังเหมือนไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น แต่บางกรณีที่พบได้น้อยมาก ไวรัสตับอักเสบ เอ อาจทำให้ตับทำงานล้มเหลวหรือเกิดตับวายอย่างเฉียบพลันจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงวัยหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตับอย่างเรื้อรังมาก่อนหน้า ผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อควบคุมอาการไม่ให้รุนแรง
การป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ

การป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถทำได้ดังนี้


ฉีดวัคซีนป้องกันโรค

การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป หลังจากฉีดวัคซีนประมาณ 1 เดือน วัคซีนจะมีผลเกือบ 100% ในทางป้องกันโรค โดยวัคซีนจะเริ่มมีประสิทธิภาพในสัปดาห์ที่ 2 หลังการฉีดเข็มแรก และฉีดซ้ำอีกครั้งเพื่อประสิทธิผลทางการป้องกันในระยะยาว หลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้วประมาณ 6 เดือน

ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันเป็นกรณีพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เอ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตับอย่างเรื้อรัง ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ เช่น ผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้ที่ทำงานในบ่อบำบัดน้ำเสีย ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน และผู้ที่ใช้เข็มร่วมกันในการใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโดยทั่วไป คือ รอยบวมแดงและความเจ็บปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งอาการมักจะเป็นไม่นานนัก ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในบางราย ได้แก่ อาจมีไข้อ่อน ๆ รู้สึกไม่สบาย อ่อนล้า ปวดหัว และไม่อยากอาหาร 


ดูแลตนเองด้วยการรักษาสุขอนามัย

นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ควรใส่ใจในการดูแลสุขอนามัยที่ดี เช่น ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารสะอาดและปรุงสุก ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสสิ่งสกปรก หลีกเลี่ยงการสัมผัสของเสียจากผู้ติดเชื้อ หรือจากบ่อน้ำเสีย น้ำทิ้ง ทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น


ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ

หากมีอาการของภาวะดีซ่าน ผู้ที่ป่วยควรลางานหรือหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ดูแลสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน ซักล้างทำความสะอาดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวแยกจากผู้อื่น ล้างห้องน้ำบ่อย ๆ และงดการมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่กำลังติดเชื้อ